วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาของ "แฟนซีคาร์พ"


เมื่อราว 1115 ปี ก่อนคริสต์ศักราช หรือเมื่อ 3097 ปีมาแล้ว ประเทศจีนสมัยราชวงศ์โจวเคยมีภาพปลาคาร์พและบันทึกเกี่ยวกับเสนาธิการของจักรพรรดิ์ชื่อ เจียงจื่อเอี่ย ไปตกปลาคาร์พที่ริมแม่น้ำและเมื่อ 2500 ปีมาแล้ว กษัตริย์ราชวงศ์โจวสมัยเดียวกันของจีนได้ให้ปลาคาร์พตัวหนึ่งแก่ "ขงจื้อ" ที่ได้ลูกชายคนแรกเป็นของกำนัล ซึ่งภายหลังขงจื้อได้ตั้งชื่อบุตรชายของตนว่า "หลี่" แปลว่า คาร์พ หรือญี่ปุ่นเรียกว่า "โค่ย" (KOI) และมีตำราญี่ปุ่นบางเล่มได้กล่าวว่า ปลาคาร์พนั้นดั้งเดิมมาจากชนชาติเปอร์เชีย สำหรับญี่ปุ่นเอง ก็มีตำนานประวัติปลาคาร์พมานานกว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว ตำนานมีว่า ชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งมีอาชีพทำนาตามภูเขาสูงในชนบทเมื่อถึงฤดูหนาวหิมะตกหนักการคมนาคมติดขัด ชาวนาส่วนใหญ่ยากจนและไม่สามารถออกนอกบ้านไปทำมาหากิน ได้นิยมเลี้ยงปลาคาร์พหรือ "โค่ย" (KOI) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไว้ในบ่อที่บ้านสำหรับเป็นอาหารในฤดูหนาว แต่เดิมนั้นปลาคาร์พมีเพียงสีดำและสีส้ม ซึ่งไม่มีความสวยงามและไม่มีคนญี่ปุ่นสนใจ เลี้ยงปลาคาร์พไว้เพื่อชมขณะนั้นเลย เมื่อประมาณ 160 ปีมานี้ ปรากฏว่าที่เมืองเอจิโกะ หรือเมืองนิกาต้าปัจจุบันได้บังเอิญเกิดมีปลาคาร์พสี "โคฮากุ สีขาวแดง" ขึ้นมาตัวหนึ่งเป็นสีที่ไม่เคยมีมาก่อนชาวบ้านแถบนั้นจึงได้สนใจขึ้น นับจากนั้นการเพาะพันธุ์ปลาประเภทนี้ว่า ปลาคาร์พสี (Coloured Crap) บ้าง ปลาคาร์พ ลวดลาย (Pattern Crap) บ้าง ปลาคาร์พบุปผาชาติ (Flower Crap) แต่ในที่สุดก็เรียกว่า "นิชิกิกอย" (Nishikigoi) อย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า "นิชิกิ" (Nishiki) แปลว่า ผ้าไหมปักดอกมีลวดลายหลากสี "กอย" (Koi) หรือ "โกย" หรือ "กออิ" หรือ "โง่ย" แปลว่าปลาไน รวมความแปลว่า ปลาไนที่มีสีสันสวยงามหลากสีนั่นเอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า "แฟนซีคาร์พ" (Fancy Crap) หรือภาษาไทยเราเรียกว่า ปลาไนญี่ปุ่นและปลาไนสี และที่กรมประมงเรียก "ปลาไนทรงเครื่อง" ซึ่งหมายถึง ปลานิชิกอยนี่เอง (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "แฟนซีคาร์พ" ซึ่งหมายถึงปลาไนพันธุ์ญี่ปุ่น ที่นำมาเลี้ยงในประเทศไทยและต่างประเทศ) แหล่งกำเนิดของแฟนซีคาร์พคือบริเวณหมู่บ้านตาเกชาวา (TAKEZAWA) ฮิ-กาชิยามา-โอตา (HI-CASHIYAMA-OTA) ตาเนอุฮารา (TANEUHARA) และกามากาชิมา (KAMAGASHIMA) ในจังหวัดนิกาต้าซึ่งบางหมู่บ้านได้อยู่ในเมืองโอจิย่า ในปัจจุบัน เดือนพฤศจิกายน 1966 สมาคมผู้เลี้ยงปลานิชิกอยชื่อ ยามาโคชิ นิชิกอย บรีดเดอร์ส โค-ออเปอร์เรทีฟ แอสโซซิเอชั่น (YAMAKOSHI NISHIKIGOI BREEDERS CO-OPERATIVE ASSOCIATION) ได้สร้างอนุสาวรีย์ปลานิชิกอยและสลักคำว่า "แหล่งกำเนิดนิชิกอย" ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับคนรุ่นหลัง ที่หน้าโรงเรียนอนุบาลชื่อ TAKEZAWA ในเมืองนิกาต้า จุดเริ่มต้นและวัฒนาการของแฟนซีคาร์พ คือ เมื่อสามารถผสมพันธุ์ปลาคาร์พแดงกับปลาคาร์พขาวเป็นผลสำเร็จ ต่อมาในระหว่าง ค.ศ. 1874 - 1875 คาร์พพันธุ์ อาซากิ (ASAGI ฟ้าอ่อน) และ คิ-อุจึริ (KI-UTSURI เหลืองดำ) ก็ได้รับการผสมพันธุ์ ขึ้นมาและเป็นที่นิยมแพร่หลายในขณะนั้น ต่อมาใน ค.ศ. 1914 ได้มีผู้นำแฟนซีคาร์พ 28 ตัว ไปแสดงในนิทรรศการไทโช ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวและได้รับรางวัลที่ 2 เหรียญเงิน เจ้าของปลามีความภาคภูมิใจเป็นที่สุด จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมกุฏราชกุมารของญี่ปุ่น นี่เองนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่แฟนซีคาร์พให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางกันยิ่งกว่าแต่ก่อน ปัจจุบันแหล่งผลิตแฟนซีคาร์พที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ เมืองโอจิยา ยามาโคชิ นากาโอกะ โตชิโอ และ คิตะอุโอนุมา ชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเพาะพันธุ์แฟนซีคาร์พขาย โดยอาศัยแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติ และมีภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยตลอดจนมีพื้นที่นากว้างใหญ่อยู่บนเขาเหมาะแก่การปรับเป็นบ่อเลี้ยงแฟนซีคาร์พได้เป็นอย่างดี การเลี้ยงแฟนซีคาร์พเป็นที่นิยมกันในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ราคาของปลาก็ได้พุ่งพรวดขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้มีพ่อค้าประเภทผู้ผลิตปลาประเภทนี้เพื่อส่งเป็นสินค้าขาออกด้วย ชาวบ้านที่ขายปลาก็เริ่มตื่นตัว แทนที่จะทำธุรกิจขายให้กับผู้ซื้อรายเดียวที่ตนต้องเสียเปรียบก็รวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มผู้ขาย ทำการค้าขายกับผู้ซื้อหลายรายด้วยกันกลายเป็นการค้าแบบประมูลราคาในตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีที่อยู่นับร้อยแห่งด้วยกัน บางแห่งเป็นรูปบริษัท บางแห่งในรูปสหกรณ์ นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของอุตสาหกรรมการเลี้ยงแฟนซีคาร์พแต่ขณะนี้การซื้อขายปลีกเป็นรายตัวสำหรับแฟนซีคาร์พลักษณะพิเศษก็ยังมีมากพอประมาณอยู่ ปัจจุบันความนิยมการเลี้ยงแฟนซีคาร์พได้ขยายออกไปทั่วโลกและเป็นที่ยกย่องและยอมรับกันทั่วไปว่าเป็น "เจ้าแห่งสัตว์เลี้ยงของโลก" ประเทศที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดนอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้า ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ไต้หวัน เกาหลี ฟิลิปปินส์ บราซิล นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน กลุ่มตะวันออกกลาง และประเทศไทย ฯลฯ


-----------------------------------------------------------------